Let’s play safe
Call Today : 083-534-4555, 02-006-8887
Room 314 , 246 Sukhumvit Rd, Khwaeng Khlong Toei, Bangkok
Open Hours
Open every day . 12:00 - 20:30

PrEP และ PEP ต่างกันอย่างไร? ยาก่อนเสี่ยงกับยาหลังเสี่ยง ใช้ให้ถูก ป้องกันได้จริง 

เคยไหม…ที่เราตัดสินใจผิดพลาดแค่ “ครั้งเดียว” แล้วต้องมานั่งลุ้นอีกหลายสัปดาห์ว่าจะติดเชื้อ HIV หรือเปล่า?

อยากบอกว่า ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงแบบนั้นอีกแล้ว เพราะเรามีตัวช่วยที่สามารถ “ป้องกันไว้ก่อน” หรือ “หยุดเชื้อไว้ทัน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ PrEP และ PEP

หลายคนยังสับสนว่า PrEP และ PEP ต่างกันยังไง ต่างกันตรงไหน? ใช้เมื่อไหร่? แบบไหนเหมาะกับตัวเอง? บทความนี้จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อให้คุณวางแผนป้องกันตัวเองได้อย่างมั่นใจ

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน แสดง

PrEP กับ PEP คืออะไร?

PrEP และ PEP คือยาต้านไวรัส (Antiretroviral Drugs) ที่มีจุดประสงค์หลักเหมือนกัน คือการป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ต่างกันที่ “ช่วงเวลาในการใช้” และ “สถานการณ์ที่เหมาะสม” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนตัดสินใจเลือกใช้

PrEP คืออะไร?

PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาสำหรับ ป้องกัน HIV ก่อนมีความเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับคู่ที่ไม่ทราบสถานะ HIV หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยหลักการของ PrEP คือ การกินยาต่อเนื่องเพื่อให้มีระดับยาในร่างกายเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อ HIV ไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ ยาที่นิยมใช้คือ Tenofovir + Emtricitabine ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV แต่ในกรณีนี้ ใช้เพื่อ “ป้องกัน” ล่วงหน้า

  • ต้องกินก่อนมีความเสี่ยงอย่างน้อย 2 – 24 ชั่วโมงในเพศชาย และ 7 วันในเพศหญิง
  • กินต่อเนื่องทุกวันเพื่อคงประสิทธิภาพ
  • เหมาะกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นประจำ เช่น คู่รักที่ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ, ชายรักชาย, ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือ คนที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เราไม่ทราบผลเลือด
  • ต้องมีการตรวจเลือดก่อนเพื่อความปลอดภัยทุกครั้ง

PEP คืออะไร?

PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เป็นยาสำหรับ ป้องกัน HIV หลังจากมีความเสี่ยง เช่น เผลอลืมใช้ถุงยาง, ถุงยางฉีกขาด, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดนเข็มตำจากผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาล หรือ เมาไม่แน่ใจว่าลืมว่าใส่ถุงยางหรือไม่

PEP จะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อ HIV เข้าไปติดเชื้ออย่างถาวัในร่างกาย หากเริ่มใช้ยา ทันทีหลังจากมีความเสี่ยง และไม่เกิน 72 ชั่วโมง

  • ต้องกินยาให้ครบ 28 วัน ติดต่อกัน
  • ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีโอกาสป้องกันได้มาก (แนะนำให้เริ่มภายใน 2 ชั่วโมงถ้าเป็นไปได้)
  • มักใช้ในกรณีฉุกเฉิน และไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำ
  • ต้องมีการตรวจเลือดก่อนเพื่อความปลอดภัยทุกครั้ง

PrEP และ PEP ต่างกันอย่างไร?

แม้ PrEP และ PEP จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ “ป้องกัน HIV” แต่ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ ช่วงเวลาในการใช้, วิธีการใช้, ระยะเวลาการรักษา รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ที่เหมาะสม

หัวข้อ

PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)

PEP (Post-Exposure Prophylaxis)

ใช้เมื่อไหร่?

ก่อนมีความเสี่ยง (ต้องวางแผนล่วงหน้า)

หลังมีความเสี่ยง (ในกรณีฉุกเฉิน)

ช่วงเวลาที่ต้องเริ่มใช้

อย่างน้อ 2 – 24 ชั่วโมงก่อนเสี่ยง (ในเพศชาย), 7 วัน (ในเพศหญิง)

ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเสี่ยง ยิ่งเร็วยิ่งดี

ระยะเวลาในการใช้ยา

ใช้ต่อเนื่องทุกวัน ตราบใดที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง

กินยาติดต่อกัน 28 วันจนครบคอร์ส

ยาที่ใช้

ส่วนใหญ่ใช้ Tenofovir + Emtricitabine

มักใช้สูตรยาต้านไวรัส 3 ตัว เช่น Tenofovir + Emtricitabine + Dolutegravir

ผลข้างเคียง

มักมีน้อย เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ในช่วงแรกๆ

อาจมีมากกว่า เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว

ความเหมาะสมของผู้ใช้

ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำๆ เช่น มีคู่นอนหลายคน, ชายรักชาย

ผู้ที่เสี่ยงแบบไม่ตั้งใจ เช่น ลืมใช้ถุงยาง, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

โอกาสป้องกัน HIV

สูงถึง >99% หากใช้สม่ำเสมอ

ป้องกันได้ 80-90% หากเริ่มใช้เร็วและใช้ครบคอร์ส

PrEP สำคัญอย่างไรในการป้องกัน HIV?

ปัจจุบันเรามียาต้านไวรัสที่สามารถช่วย “ควบคุม” เชื้อ HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตั้งแต่แรก และ PrEP คือหนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุด ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้สูงถึง 99% หากใช้สม่ำเสมอและถูกวิธี โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น

  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน และไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง
  • คู่รักที่ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ HIV (sero-discordant couple)
  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM)
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด
  • ผู้หญิงหรือชายที่ประกอบอาชีพบริการทางเพศ
  • ผู้ที่เคยใช้ PEP มาก่อน และยังคงมีความเสี่ยงซ้ำ

การใช้ PrEP จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการ “ป้องกันตัวเอง” เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วย ลดการแพร่กระจายของเชื้อในสังคม อีกด้วย

PrEP ป้องกันแค่ HIV หรือโรคอื่นด้วยไหม?

PrEP ป้องกันได้เฉพาะเชื้อ HIV เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม HPV (ไวรัสหูด) เริม ไวรัสตับอักเสบบางชนิด (เช่น B และ C) ได้ เพราะฉะนั้นถึงใช้ PrEP แล้ว ก็ยังควรใช้ถุงยางร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อการป้องกันที่ครบถ้วน

PEP สำคัญอย่างไรในกรณีฉุกเฉิน?

หลังจากที่มี ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV โดยเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อฝังตัวในร่างกาย ซึ่งต้องอาศัยความเร็วและวินัย

กรณีไหนที่ควรใช้ PEP ทันที?

  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (rape)
  • มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันกับคนที่ไม่ทราบสถานะ HIV
  • ถุงยางอนามัยรั่วหรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีบาดแผลสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • บุคลากรทางการแพทย์โดนเข็มตำจากผู้ติดเชื้อ

ในทุกกรณี ควรเริ่ม PEP ภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีความเสี่ยง และควรให้เร็วที่สุด ภายใน 2 ชั่วโมงจะดีที่สุดในแง่ของประสิทธิภาพ

PEP มีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง?

แม้จะมีประสิทธิภาพในการลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ได้ถึง 80-90% แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” และมีข้อควรระวังที่สำคัญดังนี้

  • ต้องกินยาให้ครบ 28 วัน ห้ามหยุดกลางคัน
  • ต้องตรวจ HIV ซ้ำหลังใช้ยา (โดยทั่วไปภายใน 4-6 สัปดาห์)
  • ผลข้างเคียงอาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปวดท้อง
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาบางชนิด ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้

PEP เป็นทางเลือกที่ดี “เมื่อไม่มีโอกาสได้เตรียมตัว” ดังนั้นอย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน แล้วค่อยมาป้องกันนะ ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อเนื่อง การวางแผนล่วงหน้าด้วย PrEP จะเหมาะสมกว่าในระยะยาว

PrEP และ PEP กับวิธีป้องกันอื่น ต่างกันยังไง?

ปัจจัย

ถุงยางอนามัย

PrEP

PEP

ป้องกัน HIV

✅ ได้ดีมาก

✅ ดีมากเมื่อใช้ต่อเนื่อง

✅ ได้ผลถ้าเริ่มเร็ว

ป้องกันโรคติดต่อทางเพศอื่น

✅ เช่น ซิฟิลิส หนองใน HPV

❌ ไม่ป้องกัน

❌ ไม่ป้องกัน

ต้องใช้เมื่อไหร่

ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

กินต่อเนื่องทุกวัน

หลังเสี่ยงทันที

เหมาะกับใคร

ทุกเพศ ทุกกลุ่ม

คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำ

คนที่มีเหตุฉุกเฉิน

ผลข้างเคียง

แทบไม่มี

พบได้บ้าง (มักน้อย)

พบได้บ่อยกว่านิดหน่อย

ใครควรใช้ PrEP?

กลุ่มเสี่ยงที่เหมาะกับการใช้ PrEP จากแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และงานวิจัยในหลายประเทศ กลุ่มต่อไปนี้ถือว่าเหมาะสมในการใช้ PrEP อย่างจริงจัง

  1. ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) โดยเฉพาะถ้าไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ
  2. คู่รักที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ HIV ถึงแม้จะอยู่ในการรักษาแล้วก็ตาม แต่หากมีความกังวลเพิ่มเติม PrEP ช่วยเพิ่มความอุ่นใจ
  3. ผู้หญิง/ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  4. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศ
  5. คนที่เคยได้รับ PEP มาก่อน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อเนื่อง แนะนำให้พิจารณาเปลี่ยนมาใช้ PrEP แทน
  6. ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร่วมกับผู้อื่น
  7. ผู้ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิต เช่น เลิกใช้ถุงยาง, เพิ่งมีคู่ใหม่, หรือเดินทางบ่อย

คนทั่วไปสามารถใช้ PrEP ได้ไหม?

ตราบใดที่รู้สึกว่า “อาจมีความเสี่ยง” ในอนาคตอันใกล้ หรือไม่มั่นใจในสถานะของคู่นอนสามารถใช้ได้

ใครควรใช้ PEP?

ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เมื่อเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV แบบไม่ตั้งใจ ไม่มีโอกาสเตรียมตัวล่วงหน้า

หากลืมป้องกัน ควรเริ่มใช้ PEP เมื่อไร?

  • ทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีความเสี่ยง คือกรอบเวลาที่มีประสิทธิภาพ
  • ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสป้องกันการติดเชื้อได้มาก (ภายใน 2 ชั่วโมงดีที่สุด)
  • หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยเกิน 72 ชั่วโมง ยาจะไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป

สถานการณ์ที่พบได้บ่อย เช่น

  • ลืมใช้ถุงยางระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางรั่วหรือหลุด
  • ไม่แน่ใจในสถานะของคู่นอน
  • เกิดอุบัติเหตุที่มีเลือดหรือของเหลวในร่างกายของผู้อื่นสัมผัสแผล
  • โดนเข็มตำจากผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาล

*ในกรณีของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต้องใช้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลตรวจของอีกฝ่าย

PrEP และ PEP ช่วยป้องกัน HIV ได้อย่างไร?

  • PrEP: สร้างระดับยาในเลือดและเนื้อเยื่อให้เพียงพอ ก่อนมีความเสี่ยง เพื่อสกัดกั้นเชื้อ HIV ที่อาจเข้าสู่ร่างกาย
  • PEP: ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV หลังจากที่อาจได้รับเชื้อแล้ว ก่อนที่มันจะเข้าเซลล์และขยายตัว

ขั้นตอนการรับยา PrEP และ PEP ต้องทำอย่างไร?

การใช้ PrEP และ PEP ไม่ใช่แค่ “ไปรับยามากิน” เท่านั้น แต่ต้องผ่านขั้นตอนที่เป็นระบบ และอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ต้องตรวจอะไรบ้างก่อนใช้ยา?

สำหรับ PrEP ก่อนเริ่ม PrEP จะต้องตรวจสุขภาพโดยเฉพาะเรื่อง HIV และการทำงานของไต

  • ตรวจ HIV เพื่อยืนยันว่าไม่ติดเชื้อก่อนเริ่มใช้
  • ตรวจ การทำงานของไต (Creatinine) เนื่องจาก PrEP มีผลต่อการกรองของไต
  • ตรวจ ไวรัสตับอักเสบ B และ ไวรัสตับอักเสบ C
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น (เช่น ซิฟิลิส หนองใน)

สำหรับ PEP เป็นกรณีเร่งด่วน ดังนั้นการเริ่มยามักเกิด ทันทีหลังประเมินความเสี่ยง จากนั้นค่อยนัดตรวจเพิ่มเติม

  • ตรวจ HIV เบื้องต้น เพื่อดูว่ายังไม่ติดเชื้อ
  • ตรวจเลือดพื้นฐานและการทำงานของตับ/ไต
  • อาจตรวจโรคติดต่ออื่นตามความเหมาะสม เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือซิฟิลิส

ถ้ามีโอกาสว่า “อาจติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว” ห้ามใช้ PrEP เพราะจะเสี่ยงเกิด “การดื้อยา” ซึ่งรักษายาก

ต้องพบแพทย์ก่อน หรือซื้อยาได้เอง?

  • PrEP และ PEP เป็น ยาควบคุมพิเศษ ที่ไม่ควรซื้อใช้เองโดยเด็ดขาด
  • ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์, ตรวจเลือด และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
  • โดยเฉพาะ PEP ที่เป็นการใช้ยาต้านไวรัสแบบเต็มสูตร ต้องอยู่ภายใต้การติดตามของแพทย์อย่างใกล้ชิด

หลังรับยา ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

หลังจากเริ่มใช้ PrEP หรือ PEP แล้ว ไม่ใช่แค่ “กินยาให้ครบ” แต่ยังต้องมีการดูแลตัวเองในหลายด้าน เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ดี และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงครับ

ควรสังเกตอาการหรือผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป PrEP และ PEP ถือว่าเป็น ยาที่ปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยา (FDA) ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ก็เหมือนกับยาทุกชนิด ที่อาจมีผลข้างเคียงบ้างในบางราย

PrEP อาการที่พบได้ในช่วง 1–2 สัปดาห์แรก

  • คลื่นไส้เล็กน้อย
  • อ่อนเพลียหรือปวดหัว
  • ท้องอืด หรือท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร

โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อร่างกายปรับตัวได้ และไม่ใช่สัญญาณอันตราย แต่ในบางราย (น้อยมาก) อาจพบ ผลต่อการทำงานของไต ซึ่งแพทย์จะนัดตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อติดตามผลตรงนี้ ถ้าอาการรุนแรงหรือไม่หาย ควรกลับมาปรึกษาแพทย์

PEP บางคนอาจมีอาการชัดเจนกว่า PrEP เพราะเป็นยาหลายตัวร่วมกัน

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง หรือท้องเสีย
  • อ่อนแรง รู้สึกเหนื่อย
  • ปวดศีรษะ
  • มีผื่น (ในบางราย)

การกินยาพร้อมอาหารจะช่วยลดคลื่นไส้ หากมีอาการรุนแรงหรือผิดปกติ เช่น มีผื่น หายใจลำบาก ปัสสาวะสีเข้มหรือเจ็บชายโครงขวา ควรรีบพบแพทย์ทันที!

ต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มอะไรระหว่างใช้ยา?

  • งดแอลกอฮอล์ หรือดื่มให้น้อยที่สุด เพื่อลดภาระการทำงานของตับ
  • งดยาที่มีผลต่อตับ/ไต หากต้องใช้ยาอื่นร่วม ควรแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรืออาหารเสริมที่ไม่แน่ใจว่าปลอดภัย โดยเฉพาะสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก
  • ควร พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ควรตรวจอะไรระหว่างใช้ยา?

  • หากใช้ PrEP ต่อเนื่อง
    • ควรตรวจ HIV ซ้ำทุก 3 เดือน
    • ตรวจการทำงานของไตทุก 6 เดือน
  • หากใช้ PEP
    • ควรตรวจ HIV หลังจบคอร์ส 4–6 สัปดาห์
    • อาจมีการตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 3 เดือน เพื่อยืนยันผลลัพธ์

ราคา PrEP และ PEP โดยประมาณ

ราคาของ PrEP และ PEP จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ยี่ห้อที่ใช้, สถานที่ที่รับบริการ (คลินิกเอกชน vs โรงพยาบาลรัฐ), และสิทธิ์ประกันสุขภาพที่คุณมี

ราคา PrEP (ยาก่อนเสี่ยง)

ประเภท

ราคาต่อเดือนโดยประมาณ

ยานำเข้า (Descovy)

3,400  บาท/เดือน

ยาชื่อสามัญ (generic)

1,000 – 1,800  บาท/เดือน

โปรแกรมของรัฐ (บางพื้นที่)

อาจให้ฟรี หรือมีค่ายาเพียงเล็กน้อย

PrEP มักจัดเป็น “ยาแบบรายเดือน” ที่ต้องกินทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามทุก 3 เดือน ซึ่งอาจมีค่าตรวจเลือดเพิ่มเติมเล็กน้อย (เช่น 400 – 1,000 บาท ต่อครั้ง)

ราคา PEP (ยาหลังเสี่ยง)

ประเภท

ราคาต่อคอร์ส (28 วัน) โดยประมาณ

ยาสูตรมาตรฐาน (3 ชนิด)

3,000 บาท/คอร์ส

ยารุ่นใหม่ (ผลข้างเคียงน้อย)

9,500 บาท/คอร์ส

โรงพยาบาลรัฐ (บางแห่ง)

อาจมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่านี้ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน (เช่นผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ)**

อย่างไรก็ตามแนะนำให้โทรสอบถามคลินิกหรือโรงพยาบาลล่วงหน้า เพื่อดูว่าราคาแต่ละที่แตกต่างกันอย่างไร และมีบริการฉุกเฉิน PEP 24 ชั่วโมงหรือไม่

ใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเห็นผล?

ทั้ง PrEP และ PEP ต้องใช้เวลาให้ยาออกฤทธิ์ในร่างกายก่อนจะสามารถป้องกันเชื้อ HIV ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมนี้จะแตกต่างกันไปตามชนิดของยาและรูปแบบการใช้

PrEP ไม่ได้ให้ผลป้องกันทันทีหลังจากเริ่มกิน ต้องใช้เวลาพอสมควรให้ยาสะสมในร่างกายถึงระดับที่สามารถป้องกันเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อมีระดับยาในเลือดสม่ำเสมอ การเว้นการกินบ่อยๆ หรือกินไม่ตรงเวลา อาจทำให้ระดับยาตก และประสิทธิภาพลดลง

กลุ่มผู้ใช้

ระยะเวลาที่ต้องใช้ก่อนเริ่มป้องกันได้เต็มที่

เพศชาย (sex with men)

อย่างน้อย 2 – 24 ชั่วโมง ของการใช้ต่อเนื่อง

เพศหญิง หรือทางช่องคลอด

อย่างน้อย 7 วัน ของการใช้ต่อเนื่อง

การใช้ทางทวารหนัก (เฉพาะ PrEP 2+1)

อาจใช้สูตรเฉพาะได้ กรณีมีคำแนะนำจากแพทย์

หลังจากถึงระยะเวลานี้ หากใช้ PrEP ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้สูงถึง >99% ตามรายงานจาก WHO และ CDC ครับ

PEP ป้องกันทันทีหลังมีความเสี่ยง เพื่อสกัดไม่ให้เชื้อฝังตัวในร่างกาย

  • ต้องเริ่มกินภายใน 72 ชั่วโมง และต้องกิน ครบ 28 วันติดต่อกัน ห้ามกินขาดวัน เพราะอาจทำให้เชื้อไวรัสดื้อยา หากลืมกินเกิน 24 ชั่วโมง ต้องกลับไปปรึกษาแพทย์ทันที ห้ามหยุดกลางคันเด็ดขาด แม้อาการข้างเคียงจะน่ารำคาญ
  • ระหว่างใช้ยา ร่างกายจะพยายามหยุดการเพิ่มจำนวนของเชื้อ HIV หากมีเชื้อเข้ามา

PEP ไม่ได้ป้องกันล่วงหน้าแบบ PrEP แต่ “หยุดยั้งเชื้อที่อาจกำลังพยายามเข้าเซลล์” จึงถือว่าเป็นการแข่งกับเวลาอย่างแท้จริง

ประสิทธิภาพของ PrEP และ PEP อยู่ได้นานแค่ไหน?

หลายคนคิดว่าเมื่อใช้ PrEP หรือ PEP แล้ว จะสามารถ “ปลอดภัยไปตลอด” แต่จริงๆ แล้ว ยาทั้งสองชนิดมีระยะเวลาการป้องกันที่ ขึ้นอยู่กับการใช้ยาอย่างต่อเนื่องหรือครบคอร์ส เท่านั้นครับ

ถ้าหยุด PrEP แล้ว ยังป้องกันได้อยู่ไหม?

ไม่ป้องกัน เพราะ PrEP จะช่วยป้องกัน HIV ได้ เฉพาะในช่วงที่ร่างกายมียาในระดับที่เพียงพอ หากหยุดใช้ยา ระดับยาจะค่อยๆ ลดลง และหายไปจากกระแสเลือดภายในไม่กี่วัน

PEP หลังจากใช้แล้ว ยังเสี่ยงอยู่ไหม?

ยังมีความเสี่ยงได้ในอนาคต หากมีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำ

  • PEP ไม่ได้ให้ภูมิคุ้มกันแบบวัคซีน
  • หลังจบคอร์ส 28 วัน ต้อง ตรวจ HIV ซ้ำ ภายใน 4–6 สัปดาห์ และบางกรณีอาจต้องตรวจซ้ำที่ 3 เดือน เพื่อยืนยันผลลัพธ์
  • หากมีความเสี่ยงซ้ำหลังจบ PEP (เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันอีกครั้ง) จะต้องเริ่มประเมินการใช้ PEP ใหม่ หรือเปลี่ยนมาใช้ PrEP แทนครับ

วิธีสังเกต PrEP และ PEP ของแท้ ของปลอม อย่างไร?

ซื้อจากที่ไหนถึงมั่นใจได้ว่าเป็นของแท้?

  1. รับยาจากโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้รับอนุญาต
    • เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศ, คลินิกสุขภาพทางเพศ, โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
    • มีใบสั่งยาจากแพทย์ชัดเจน
    • ได้รับยาในบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่ถูกเปิด
  1. หลีกเลี่ยงการซื้อจากแหล่งที่ไม่สามารถยืนยันแหล่งผลิตได้
    • เช่น เพจเฟซบุ๊ก, LINE หรือแหล่งขายที่ไม่มีใบอนุญาต
    • แม้ราคาจะถูก แต่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

ของปลอมมีลักษณะอย่างไร?

  • ไม่มีเลขทะเบียน อย. หรือเป็นเลขปลอม
  • ฉลากไม่ชัดเจน ตัวอักษรเบลอ หรือสะกดผิด
  • เม็ดยาแตกหัก สีซีด หรือไม่ตรงกับรูปแบบยาที่แพทย์ให้
  • ไม่มีแผ่นพับคู่มือการใช้ หรือฉลากเป็นภาษาที่อ่านไม่ออก
  • บรรจุภัณฑ์ดูเก่า ผิดรูป หรือเปิดใช้งานมาก่อน

ของปลอมมีอันตรายอย่างไร?

  • ไม่มีสารออกฤทธิ์ที่แท้จริง → ไม่สามารถป้องกัน HIV ได้เลย
  • ใช้สารที่ไม่ได้มาตรฐาน → อาจเกิดพิษต่อตับ ไต หรือระบบประสาท
  • ทำให้ดื้อยา → หากติดเชื้อ HIV จริง ยาจะรักษาได้ยากขึ้นและเสี่ยงเสียชีวิต

สรุป: PrEP และ PEP ป้องกัน HIV ได้ แต่ใช้ในสถานการณ์ต่างกัน

PrEP คือยาที่ใช้ ก่อนมีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV เหมาะสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อเนื่อง เช่น มีคู่นอนหลายคน หรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอน

PEP คือยาที่ใช้ หลังจากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ลืมป้องกัน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีอุบัติเหตุสัมผัสเลือด โดยต้องเริ่มภายใน 72 ชั่วโมงและกินให้ครบ 28 วัน

ทั้งสองวิธีต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ มีผลข้างเคียงบ้างแต่โดยรวมปลอดภัยสูง และควรใช้อย่างต่อเนื่องหรือครบคอร์สเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ไม่ควรซื้อยาใช้เองโดยเด็ดขาดครับ

icon email