Let’s play safe
Call Today : 083-534-4555, 02-006-8887
Room 314 , 246 Sukhumvit Rd, Khwaeng Khlong Toei, Bangkok
Open Hours
Open every day . 12:00 - 20:30

เริมที่ปากคืออะไร ทำยังไงถึงหาย รวมสาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

เริมที่ปาก

 

เริมที่ปาก คืออะไร

เริมที่ปาก คือ การมีอาการของโรคเริม (Herpes simplex) ขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยโรคเริมที่ปากส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการของโรค หลังจากติดเชื้ออาจใช้ระยะเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนกว่าจะปรากฏอาการของโรค และต่อเมื่อรักษาหายในครั้งแรกแล้ว ก็อาจมีการกำเริบกลับมาเป็นซ้ำได้อีกถ้าหากปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอ

ลักษณะของเริมที่ปาก

ลักษณะของเริมที่ปาก

ลักษณะของโรคเริมที่ปาก จะปรากฏแผลบวมแดง มีตุ่มพองมีน้ำใสๆ และรู้สึกคันหรือเจ็บ ไปจนถึงปวดแสบปวดร้อนขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก ซึ่งจะปรากฏอยู่ประมาณ 48 ชั่วโมง และตุ่มใสเหล่านี้อาจจะรวมตัวหรือเชื่อมต่อกันทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ หลังจากนั้น ตุ่มทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มหนองภายใน 72-96 ชั่วโมง แตกออก และตกสะเก็ด ส่วนอาการร่วมอื่นๆ ก็จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดตามเนื้อตัว ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคเริมที่ปากครั้งแรกจะมีอาการที่รุนแรงที่สุด แต่ถ้ากลับมาเป็นซ้ำอีกอาการจะไม่หนักเท่าในครั้งแรกอีก

นอกจากโรคเริมที่ปากแล้ว เริมยังสามารถเป็นที่บริเวณอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เริมที่จมูก เริมที่อวัยวะเพศ เริมที่ปากมดลูก เริมที่ทวารหนัก เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดเริมที่ปาก

สาเหตุของการเกิดเริมที่ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด Herpes Simplex virus type 1 หรือ เชื้อ HSV ชนิดที่ 1 ซึ่งมักจะพบที่บริเวณปาก โดยมักจะได้รับเชื้อไวรัสมาจากน้ำลาย น้ำเหลือง หรืออสุจิ หรือกินและใช้ของร่วมกัน และสัมผัสผู้ที่เป็นโรคที่ทั้งแสดงอาการ หรือไม่แสดงอาการ เช่น ผื่นตุ่มน้ำ รอยโรค เป็นต้น ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย

เริมที่ปาก อันตรายไหม

เริมที่ปาก อันตรายไหม

โรคเริมที่ปาก ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายไม่น้อย เพราะถ้าหากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อที่สมองหรือเยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้สมองอักเสบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก ร่างกายอ่อนแรง ไปจนถึงขั้นชักและโคม่าได้เลยทีเดียว

อาการของเริมที่ปาก

  1. รู้สึกแสบร้อนบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก หรือคันยุบยิบ
  2. หลังจากนั้นจะมีตุ่มพองใสๆ ลักษณะคล้ายพวงองุ่นปรากฏขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งริมฝีปากบนหรือล่างและในช่องปาก
  3. ปากเป็นแผลบวมแดง และรู้สึกเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
  4. ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อาการเหล่านี้อาจกินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้จนกว่าแผลจะหายหมด

ระยะของเริมที่ปาก

  • ระยะที่ 1 – รู้สึกระคายเคือง หรือคันบริเวณริมฝีปาก ก่อนการเกิดแผล
  • ระยะที่ 2 –  มีแผลพุพอง หรือตุ่มใสๆ เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง หรือในช่องปาก ซึ่งจะปรากฏอยู่ประมาณ 48 ชั่วโมง
  • ระยะที่ 3 –  มีแผลพุพองเยอะขึ้น และรู้สึกแสบร้อน เจ็บปวดมากกว่าเดิม ภายใน 72-96 ชั่วโมง ตุ่มทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มหนอง และแตกออก
  • ระยะที่ 4 – แผลในระยะที่ 3 เริ่มแห้งและตกสะเก็ด ประมาณ 7-10 วัน
  • ระยะที่ 5 – แผลตกสะเก็ดเริ่มหายดี และไม่แสดงอาการใดๆ

อาการแทรกซ้อนของเริมที่ปาก

อาการแทรกซ้อนของเริมที่ปาก

อาการของโรคแทรกซ้อนที่อาจพบคือ เชื้อไวรัสแพร่ไปติดเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น อาจติดเชื้อที่บริเวณสมองหรือเยื่อหุ้มสมองทำให้ชักและโคม่า หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องการติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้

เริมที่ปากติดต่อได้ไหม

เริมที่ปาก สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย การมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การจูบ การใช้ของร่วมกัน หรือการทำ Oral Sex โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งหากที่ปากมีแผลเริม ก็อาจทำให้บริเวณอวัยวะติดเชื้อเริมไปด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นไวรัสคนละชนิดกันก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ เช่น การทำ Oral Sex โดยไม่มีการป้องกัน อาจมีความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการติดเชื้อ HIV ได้ โดยเฉพาะหากบริเวณปากหรืออวัยวะเพศมีแผลเปิด ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เป็นยาที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ได้หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสเชื้อ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ยา PEP และวิธีการใช้งานได้ที่บทความ ยา PEP (เป๊ป) ยาต้านฉุกเฉิน ป้องกัน hiv คืออะไร? อันตรายไหม?

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและต้องการป้องกันการติดเชื้อ HIV ในระยะยาว เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ การใช้ ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV อย่างมีประสิทธิภาพ คุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ยา PrEP และข้อดีของการใช้งานได้ที่บทความ PrEP (เพร็พ) ยาป้องกันต้านเชื้อ hiv และ โรคเอดส์ คืออะไร ราคาเท่าไหร่

รักษาเริมที่ปากที่ไหนดี

สามารถเข้าทำการรักษาได้ทั้งคลินิกเอกชน โรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน หรือปรึกษาโรคเริม เริมที่ปาก พร้อมทำการนัดหมายกับ Safe Clinic ได้เลย ที่นี่

วิธีรักษาโรคเริมที่ปาก

การรักษาโรคเริมที่ปากสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการการรักษาด้วยตัวเองที่บ้านประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง หรือน้ำเย็น การใช้ยาสมุนไพรอย่างว่านหางจระเข้ในการลดอาการปวดแสบปวดร้อน รวมถึงใช้เสลดพังพอนตัวเมียในการทำให้ตุ่มหายไวขึ้น และการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็จะช่วยลดความรุนแรงของแผลลง แผลจะหายได้เร็วยิ่งขึ้น

วิธีรักษาโรคเริมที่ปาก

ยาที่ใช้รักษาโรคเริม

ยาที่ใช้รักษาโรคเริมจะเป็นยาภายนอกที่ใช้เพื่อต้านไวรัส และให้ผลดีในการลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็ว เช่น  ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมซิโคลเวียร์ (Famcyclovir) และ ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งควรที่จะทายาตั้งแต่ช่วงที่มีอาการนำก่อนที่จะเกิดเป็นตุ่มน้ำที่ริมฝีปากนั้นจะช่วยลดระยะเวลาที่เป็นตุ่มน้ำให้สั้นลงได้ดี

เป็นเริมที่ปากดูแลอย่างไร

  • หลีกเลี่ยงการพยายามทำให้ตุ่มน้ำแตก เช่น การสัมผัส แกะ เกา
  • หมั่นประคบและทำความสะอาดแผลด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุก หรือกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ กรณีที่มีแผลในปาก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำให้มากๆ
  • รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ หรือเช็ดตัวลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • งดรับประทานอาหารแปรรูป เช่น ของหมัก ดอง แหนม ปลาร้า กะปิ อาหารที่ไม่สุก
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อน เผ็ด เค็ม และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะแผลที่ปากจะเกิดอาการแสบได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น กินอาหารที่อุดมไปด้วยไลซีน ได้แก่ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วงอก และถั่วต่างๆ ซึ่งช่วยรักษาและป้องกันโรคเริมได้
  • ควรกินผักและผลไม้สดเยอะๆ ทุกวัน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

การป้องกันไม่ให้เกิดเริมที่ปาก

การป้องกันไม่ให้เกิดเริมที่ปาก
  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เว้นระยะห่าง และไม่ควรใช้สิ่งของที่สัมผัสกับน้ำลายร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ด้วยปาก หรืออาจใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสเริม
  • หากเป็นเริมที่ปากซ้ำบ่อยมากกว่า 6 ครั้งต่อปี ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันเริมกลับมาเป็นซ้ำ
  • หมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด การทำให้ร่างกายอ่อนแอ เป็นต้น

คำถามที่พบบ่อย

เริมที่ปาก ร้อนใน ปากนกกระจอก ต่างกันอย่างไร

  • เริมที่ปาก – อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า อาการของเริมที่ปากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสจำนวนหลายๆ ตุ่มบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหนัง โดยจะรู้สึกเสียวๆ คัน หรือเจ็บบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มพุพองและแตกได้
  • ร้อนใน – จะเป็นแผลบวมแดงและเจ็บขึ้นในช่องปาก เช่น บริเวณแก้ม ลิ้นหรือด้านในริมฝีปาก จะมีลักษณะแผลเป็นสีเหลืองหรือขาวเป็นวงกลมหรือรี จะรู้สึกเจ็บและมีอาการบวมแดงที่แผลได้
  • ปากนกกระจอก – มักเกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง จนทำให้เกิดภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นตรงมุมปาก เป็นแผล อาจมีรอยแดง บวม และตึงที่เฉพาะบริเวณมุมปาก ซึ่งอาจเกิดอาการดังกล่าวที่มุมปากข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้

เริมที่ปากรักษาด้วยสมุนไพรได้ไหม

เริมที่ปากสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรที่ชื่อว่า “พญายอ” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยในการลดอาการแสบร้อน และทำให้ตุ่มใสหายไวขึ้น โดยในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ในรูปแบบของครีมตามร้านขายยาทั่วไป และให้ใช้ทาเฉพาะแผลเริมภายนอกริมฝีปาก ต่อเนื่องกัน 4-5 วัน แต่ทั้งนี้ ไม่ควรละเลยที่จะตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

เริมที่ปากรักษากี่วันหาย

โรคเริมที่ปากสามารถหายได้เองใน 2-6 สัปดาห์ แต่ในรายที่อาการลุกลามตุ่มพองอาจกลายเป็นหนอง ซึ่งทำให้หายช้าได้ ส่วนผู้ที่เคยเป็นแล้วกลับมาเป็นใหม่ระยะเวลาการหายจะเร็วขึ้น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว

เป็นเริมที่ปากมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่เป็นเริมที่ปากมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดโรคสูงมาก แต่ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ ควรระมัดระวังไม่ทำการ Oral Sex การจูบ หรือสัมผัสบริเวณริมฝีปาก รวมถึงรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเอาไว้ด้วย

เป็นเริมที่ปากบ่อยมากแก้ยังไง

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เช่น พยายามนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้มากขึ้น เป็นต้น
  • คอยสังเกตพฤติกรรมว่า เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เครียด ทำให้กลับมาเป็นเริมหรือไม่ หากใช่ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่กดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้เป็นเริมได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมอยู่ก่อนแล้ว

เป็นเริมที่ปากเจาะได้ไหม

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเริมที่ปาก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผล ทั้งการจับ แคะ แกะ เกา หรือพยายามเจาะ เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่บริเวณอื่นของร่างกายหรือติดต่อไปยังผู้อื่นได้

 
icon email