หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ไวรัสตับอักเสบมาไม่มากก็น้อย และอาจจะเคยได้ยินว่ามีหลายชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ฯลฯ และหนึ่งในไวรัสตับอักเสบที่หลายคนได้ยินบ่อยและพบเจอได้ง่าย รวมถึงมีความรุนแรงมากก็คงจะหนีไม่พ้น “ไวรัสตับอักเสบบี” ซึ่งในบทความนี้จะมาขยายความให้ทุกคนรู้จักกันว่าคืออะไร อันตรายแค่ไหน จะมีอาการอย่างไร รวมถึงจะรักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้างจึงจะห่างไกลจากโรคไวรัสตับอักเสบบี
Hepatitis B Virus หรือ ไวรัสตับอักเสบบี คือ โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะติดต่อผ่านทางเลือด และอาจส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ในระยะต่างๆ ของการติดเชื้อ โดยพบได้ทั่วโลกและเป็นหนึ่งในสาเหตุของการตายจากโรคตับในประเทศไทย นอกจากนี้ ไวรัสตับอักเสบบีจะเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงมาก ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีแนวโน้มเกิดตับแข็ง ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้อีกด้วย
ลักษณะของไวรัสตับอักเสบบีจะเป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ และนำไปสู่การเป็นตับแข็ง เป็นแผลถาวรที่บริเวณตับ ตับวาย และโรคมะเร็งตับได้ โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับส่วนใหญ่จะเคยมีประวัติว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ส่วนผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบอยู่ก็มีโอกาสที่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงมากขึ้นอีกถ้ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น การดื่มสุรา ปัจจัยทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี การได้รับสารก่อมะเร็งโดยเฉพาะสารอะฟลาท็อกซิน (aatoxin) เป็นต้น
สำหรับลักษณะของการติดเชื้อสามารถติดได้ตั้งแต่วัยเด็ก และจะเป็นเรื้อรัง ไวรัสจะขึ้นๆ ลงๆ ร่วมกับการทำงานของตับที่ผิดปกติ ปล่อยไว้นานเข้าจะเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ในที่สุด ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างแข็งแรงก็จะกำจัดเชื้อได้เองโดยไม่มีอาการหรือถ้ามีก็มีเล็กน้อย
ไวรัสตับอักเสบบีมีความแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น ดังนี้
ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus) จะติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการรับประทานอาหาร เช่น น้ำดื่ม ผัก ผลไม้ เป็นต้น, การสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ, การดื่มน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป, การรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก
จะไม่มีอาการในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ส่วนใหญ่จะเจอในเด็กอายุมากกว่า 6 ปีและในผู้ใหญ่ และมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน หรือดีซ่าน ปกติจะหายได้ใน 24 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีที่มีโรคตับอักเสบหรือตับแข็งอยู่แล้วอาจทำให้เกิดอาการตับวายเฉียบพลันได้
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) จะติดต่อจากคนสู่คนผ่านหลายช่องทาง เช่น ทางเลือด เพศสัมพันธ์ จากมารดาสู่บุตร การได้รับบริจาคเลือด ผ่านการสัมผัสเลือดผ่านการใช้ของใช้มีคมร่วมกัน, การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เป็นต้น
อาการของไวรัสตับอักเสบบี สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป จะมีอาการอ่อนเพลียเหมือนตอนเป็นหวัด มีไข้ คลื่นไส้ ตัวเหลือง ตาเหลือง จุกท้องชายโครงขวา แต่ถ้าเป็นในทารกแรกคลอดจนถึงเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี มักมีอาการอักเสบเป็นๆ หายๆ เกิดพังผืดในตับ พออายุเยอะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งได้
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) จะติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์
ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการจนกระทั่งรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเมื่อทำการตรวจก็จะพบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี และทำให้มีอาการเรื้อรังจนถึงขั้นเป็นตับอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้เลยทีเดียว
ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D virus) จะติดต่อได้โดยทางเลือดที่มีเชื้อโดยตรง เช่น ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการรับเลือด ฯลฯ การมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี
มักมีอาการตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง สำหรับในคนที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการเหนื่อย เฉื่อยชา เบื่ออาหาร ดีซ่าน ปัสสาวะและอุจจาระมีสีเปลี่ยนไป
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E virus) จะติดต่อกันได้เหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบเอ คือ จากอาหาร น้ำดื่ม หรืออุจจาระที่มีการปนเปื้อน
ส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ มีไข้ ปวดช่องท้อง ปัสสาวะมีสีเข้ม ผิวเหลือง อุจจาระมีสีอ่อน รู้สึกกดแล้วเจ็บที่ชายโครงด้านขวา มีอาการดีซ่าน
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีเป็นเชื้อที่มีความคงทนสูง ทำลายได้ยาก และติดต่อได้จากหลากหลายช่องทาง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดต่อผ่านมารดาสู่ลูกในครรภ์ทำให้เป็นไวรัสตับอักเสบบี หรือสำหรับในผู้ใหญ่ก็มักจะเป็นทางเลือด เพศสัมพันธ์ สารคัดหลั่ง หรือการอยู่ใกล้ชิดกับตัวผู้ป่วยและใช้สิ่งของต่างๆ ที่เป็นของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น
อาการของไวรัสตับอักเสบบี หากเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อแบบเฉียบพลัน จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 45-90 วัน ในบางรายอาจจะนานถึง 180 วัน โดยในช่วงแรกจะมีอาการไม่อยากอาหาร เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาเนื่องจากตับโต รู้สึกไม่สบายตัว ปวดเนื้อปวดตัว มีอาการถ่ายเหลว ตัวเหลือง ตาเหลือง และมีปัสสาวะมีสีเข้ม
อาการของไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังโดยเป็นมาในระยะเวลานาน มักมีอาการตับทำงานผิดปกติ อาจมีอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร นอกจากนี้จะนำไปสู่การเป็นตับแข็ง ซึ่งมักจะมีอาการต่างๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องมานน้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น
หากสงสัยว่า ตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับ (จะใช้ปริมาณเลือดประมาณ 5 มิลลิลิตร) หลังจากนั้นจะส่งเลือดไปยังห้องปฏิบัติการ โดยการหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) ซึ่งจะต้องตรวจระดับเอนไซม์ของตับ (ALT, AST)
สำหรับกลุ่มที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะนัดตรวจเพิ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 1-2 เดือน เพื่อดูว่ามีอาการของตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง หรือตรวจหาปริมาณไวรัสทางอ้อม เพื่อประเมินปริมาณไวรัสก่อนวางแผนทำการรักษา และยังสามารถตรวจจากการตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจได้ด้วย (ทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบเรื้อรัง)
วิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบบี ในปัจจุบันสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบีได้แล้ว เพื่อลดการเกิดพังผืดในตับ ลดการอักเสบของตับ ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดเป็นภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ด้วย โดยการรับประทานยาต้านไวรัสตับอักเสบบี หรือถ้าเป็นเรื้อรังก็สามารถใช้วิธีการฉีดยาเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานด้วยได้
นอกจากนี้ทางผู้ป่วยก็ต้องดูและรักษาตัวเองให้มากขึ้น เช่น งดอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซิน เช่น ถั่วลิสง พริกป่น, งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีส่วนทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น, ไม่ควรรับประทานยาเองติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เป็นต้น
ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี ในปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม ได้แก่
เป็นยารับประทานที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส เมื่อรักษาไประยะหนึ่ง ยกกลุ่มนี้มีหลายตัว เช่น entecavir, tenofovir disoproxil fumarate (TDF) และ tenofovir alafenamide (TAF) ยารูปแบบนี้จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าแบบฉีด แต่ก็ทำให้หายยากกว่า
เป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบบีแบบฉีดที่ต้องทำการฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง โดยยาจะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้เข้าทำลายไวรัสเอง แต่การใช้งานอาจมีผลข้างเคียง เช่น หนาวสั่น ใจเต้นเร็ว มีไข้ ปวดศีรษะ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยายังกดไขกระดูก เลือดออกง่าย และติดเชื้อ จึงมีข้อระวังในการใช้มากมาย เช่น
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง จะต้องเป็นผู้ที่มี HBsAgให้ผลบวกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังแบ่งตัวเป็นอย่างมาก และมีระดับ ALT มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 เท่าของค่าปกติอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ยกเว้นในกลุ่มที่เป็นตับแข็งหรือภาวะตับวาย จะไม่ต้องรอห่างกันเกิน 3 เดือน)
ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถเลือกใช้ยาได้ทุกขนานขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วย ระยะโรค และปัจจัยของไวรัสตับอักเสบบี ส่วนผู้ป่วยที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้อาการหรืออยู่ในช่วงที่ไวรัสไม่มีการแบ่งตัว ให้ติดตาม ALT เป็นระยะๆ ทุกๆ 3-6 เดือน และยังไม่ต้องรับยาต้านเชื้อไวรัส รวมถึงควรได้รับการประเมินการรักษาจากแพทย์อย่างละเอียด
สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทั้งโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทาง เพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์ในการดูแลรักษาตัวเองและคนใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งการฉีดยา รับประทานยา การดูแลตนเอง พร้อมกับให้แพทย์ติดตามอาการของโรคอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยการฉีดเข้ากล้ามที่ต้นแขนรวม 3 เข็ม ห่างกันที่ 0, 1 เดือน และ 6 เดือน โดยในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี รวมในเข็มเดียวกันแล้ว จึงควรที่จะฉีดไว้เพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และในกลุ่มผู้ใหญ่ควรที่จะตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนว่ามีการติดเชื้อหรือมีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบีแล้วหรือไม่ด้วย ติดต่อเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เลยที่นี่
ส่วนการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไวรัสตับอักเสบบีนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายข้อ เช่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น การเจาะ สัก หรือใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น, ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์, ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ, หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ฯลฯ
สิ่งที่น่ากลัวสำหรับการเป็นไวรัสตับอักเสบบี คือ การที่ติดเชื้อแล้วไม่รู้ตัว และปล่อยให้อาการแย่ลงนานกว่า 6 เดือน จนกลายเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังและโรคตับอักเสบ รวมถึงเรื่องมะเร็งตับด้วย เนื่องจากมีการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับถูกทำลายลงไปนั่นเอง
ไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นแบบเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสหายขาดได้เอง โดยจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ภายใน 10 สัปดาห์ แต่ถึงแม้ว่าจะรักษาจนหายได้แล้วก็อาจจะยังมีเชื้อในร่างกาย ซึ่งจะติดต่อไปยังคนอื่นๆ ต่อได้ด้วย จึงแนะนำให้ตรวจและดูแลร่างกายของตนเองอยู่เสมอ
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อผู้ติดเชื้อ และเป็นสาเหตุของการตายจากโรคตับในประเทศไทย การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอและถูกสุขอนามัย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อ และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นวิธีการที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันให้ผู้ป่วยไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ในที่สุด