โรคเริม คืออะไร ?
เริม (Herpes simplex) เป็นโรคติดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งการติดต่อของโรคเริม เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเริม เช่น สัมผัสโดนน้ำเหลืองจากตุ่มโรคเริม ตัวอย่างเช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกันกับผู้ป่วย,การใช้ลิปติกแท่งเดียวกับผู้ป่วยหรือ มีน้ำเหลืองติดอยู่ นอกจากนี้สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
เมื่อได้รับเชื้อโรคเริมในครั้งแรก เชื้อไวรัสจะเข้ามาสะสมในปมเส้นประสาท โดยที่ยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีปจจัยเข้ามากระตุ้นเชื้อจึงจะเริ่มเคลื่อนจากปมประสาทมายังปลายเส้นประสาท และเกิดโรคที่ผิวหนังหรือเยื่อบุ ซึ่งการเกิดโรคพบได้ในหลายตําแหน่ง แต่ที่พบได้บ่อยๆ คือ บริเวณริมฝปาก หรือ บริเวณอวัยวะเพศ
สาเหตุการเกิดโรคเริม
โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex virus หรือ เชื้อ HSV ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ
- Herpes Simplex virus type 1 หรือ เชื้อ HSV ชนิดที่ 1 มักพบการติดเชื้อบริเวณปากหรือรอบๆ ปาก เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น มีความเครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอยู่ในช่วงพักฟื้นจากการเจ็บป่วยหรือผ่าตัด หรือ แม้แต่ช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ก็สามารถป่วยด้วยโรคนี้ได้ เช่น อาการเริมที่ปาก
- Herpes Simplex virus type 2 หรือ เชื้อ HSV ชนิดที่ 2 เป็นการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ หรือ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ เป็นต้น
การติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดนั้น สามารถเป็นปัจจัยสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นกัน เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การติดเชื้อที่สมอง และอวัยวะสำคัญต่างๆ
HSV-1 และ HSV-2 เหมือนกันหรือไม่ ?
เชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด สามารถทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศได้ทั้งคู่ แต่โดยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) เกิดในตำแหน่งที่สูงกว่าเอว พบมากบริเวณริมฝีปากและจมูก และร้อยละ 70-90 ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) เกิดในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเอว ซึ่งนั่นหมายถึงบริเวณอวัยวะเพศ
การป้องกันโรคเริม
การป้องกันโรคเริม นั้นสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ ต้องหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะเชื้อเริมอาจมีในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ซึ่งเราสามารถสัมผัสเชื้อผ่านสิ่งของ เครื่องใช้ การใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ในที่สาธารณะ หากร่างกายอ่อนแอ และถ้าหากเรามีสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อก็จะสามารถก่อโรคและอันตรายได้
อาการเริม
อาการของการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดจะเริ่มจากพบตุ่มพองใสๆ เล็กๆ ที่บริเวณผิวหนัง จากนั้น ตุ่มใสจะเริ่มพองและปวดแสบปวดร้อน เมื่อผ่านไป 1- 2 วัน ตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างในและเริ่มแตกออก หากมีการติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบลุกลามและเกิดแผลขนาดใหญ่รักษาหายยากขึ้น
อาการร่วมนอกจากการมีตุ่มใส คือ อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาการก่อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจึงคล้ายโรคหวัด แต่ไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเหมือนหวัด แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะรู้สึกอาการรุนแรงและใช้เวลานานกว่าจะหายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เคยเป็นแล้วกลับมาเป็นใหม่ระยะเวลาการหายจะเร็วขึ้น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว
วิธีรักษาโรคเริม
การรักษาโรคเริม นั้น เน้นการรักษาตามอาการ เนื่องจาก เชื้อไวรัสอาจทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียได้ แต่ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียดและป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคเริม คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น ดวงตา เพราะ การติดเชื้อเริม บริเวณใดก็ตาม ต้องดูแลตุ่มใสไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อซ้ำซ้อน เพราะถ้าหากติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะที่ติดเชื้อได้ เช่น ติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ตาบอดหรือสูญเสียการมองเห็นได้ หากติดเชื้อลุกลามอวัยวะภายในก็สามารถสร้างความอันตรายได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
การดูแลรักษาระหว่างเป็นโรคเริม
โรคเริม เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง โดยเฉพาะ เริม ที่กลับมาเป็นซ้ำและมักไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก ซึ่งเมื่อรู้ตัวแล้วว่าโรคเริมถามหา วิธีการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือการพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด และควรดื่มน้ำมากๆ
ในส่วนของแผลจากตุ่มน้ำ ถ้าเป็นเริมที่คอ แนะนำให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ แต่หากเป็นตุ่มแผล บริเวณอื่นๆ เช่น เริมที่ขา เริมที่ก้น เริมที่จมูก ควรอาบน้ำและทำความสะอาดแผลให้สะอาด เช่น ฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มเป็นหนอง ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มแผล ในกรณีที่มีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการ
โรคเริมเกิดที่ไหนได้อีกบ้าง
นอกจากโรคเริมจะพบได้บ่อยที่บริเวณปาก และอวัยวะเพศแล้ว โรคเริ่มยังสามารถเกิดขึ้นกับบริเวณอื่นได้เช่นกัน
- โรคเริมที่จมูก หรือ โรคเริมที่ตา : เมื่อติดเชื้อจะลักษณะอาการของตุ่มน้ำใสอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งภาษาชาวบ้านมักเรียก ผื่นหรือตุ้ม “ขยุ้มตีนหมา” ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
- โรคเริมที่ขา : มักมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดเสียว อาจมีอาการปวดแปลบนำมาก่อนจะมีตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ
- โรคเริมที่คอ : ผู้ป่วยจะมีแผลเปื่อยในช่องปาก ซึ่งมักจะเป็นแผลเดียวเกิดขึ้นที่บริเวณเหงือกหรือที่เพดานแข็ง มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำในช่วงแรกๆหลังจากนั้นจะแตกออก เป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง เมื่อลอกออกจะกลายเป็นแผลตื้นสีแดง
การแทรกซ้อนของโรคเริม
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเริมมักจากการดูแลทำความสะอาดแผลและตุ่มใสจากเริม ได้ไม่ดี เช่น ตุ่มน้ำพองที่แตกกลับไม่แห้ง แต่กลายเป็นหนอง และติดเชื้อแบคทีเรียได้ ในกรณีถ้าเป็นที่ผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ขา จมูก ปาก ก็อาจะไม่อันตรายมาก แต่เกิดติดเชื้อบริเวณตา สามารถสร้างผลเสียต่อดวงตาได้ รุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้เลยทีเดียว ในกรณีนี้แนะนำให้พบแพทย์ทันที
สำหรับในคุณแม่ตั้งครรภ์ การติดเชื้อเริมครั้งแรกส่งผลเสียร้ายแรงโดยสามารถทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์
อีกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เกิดได้น้อยมาก คือ ตัวผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำเป็นทุนเดิม อาจติดเชื้อที่บริเวณสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้สมองอักเสบ ปวดศีรษะมาก อ่อนแรง ชักและอาจโคม่าได้